ศาสนา

ความหมายและความสำคัญของศาสนา
1. ความหมายของศาสนา
        คำว่า " ศาสนา" มาจากคำในภาษาสันสกฤตว่า " ศาสน" แปลว่า " คำสอน ข้อบังคับ" ตรงกับคำในภาษาบาลีว่า "สาสน" แปลว่า " ศาสนา หรือคำสั่งสอนกับศาสดา"
          คำว่า " ศาสนา" ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า " Religion" มาจากภาษาลาตินว่า "Religare" ตรงกับคำว่า "Together" แปลว่าการรวมเข้าด้วยกัน หรือการรวมตนเองให้เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า ดังนั้นคำว่า "Religion"ที่เรานำมาแปลเป็นไทยว่า ศาสนานั้นจึงเป็นเรื่องของความสัมพันธ์โดยศรัทธาระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า
           พจนานุกรมฉบับบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525 ได้ให้นิยามคำว่า " ศาสนา" ดังนี้ ศาสนา หมายถึง ลัทธิความเชื่อ ของมนุษย์อันมีหลักคือแสดงกำเนิด และความสิ้นสุดของโลก เป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาป อันเป็นไปในฝ่ายศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็นหรือตามคำสั่งสอนในความเชื่อถือนั้น ๆ
2. ความสำคัญของการนับถือศาสนา การนับถือศาสนา ทำให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับสังคม รวมไปถึงความสำคัญของการนับถือศาสนาต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ดังนี้
                 ความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับสังคม
        ศาสนาเป็นสถาบันที่สำคัญของสังคม ช่วยกล่อมเกลาพฤติกรรมของสมาชิกในสังคม เพราะศาสนามีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนี้
        (1) ทำให้คนปกครองตนเองได้ในทุกสถาน เพราะมีหลักธรรมช่วยพัฒนาจิตใจให้รู้จักควบคุมกาย วาจา ใจ ให้ปราศจากการประทุษร้ายเบียดเบียนกัน
       (2) เป็นภูมิปัญญาระดับสูงทางความคิดและมโนธรรมอันลึกซึ้งที่นำชีวิตไปสู่จุดหมายปลายทางคือ สันติสุข
       (3) เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์ในการดำเนินชีวิต เมื่อมีปัญหาใด ๆ มากระทบใจ ศาสนาเป็นที่พึ่งพาใจให้มนุษย์ได้
        (4) ศาสนาเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรมของสังคม ได้แก่ คติธรรม เนติธรรม สหธรรมและวัตถุธรรม สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นคุณภาพจิตใจที่ดีงามของมนุษย์
        ศาสนาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมที่มีวิวัฒนาการ ไม่ใช่สังคมป่าเถื่อน เพราะหลักสำคัญที่สุดที่ศาสนาช่วยทำให้สังคมสงบร่มเย็นคือ ศาสนาทุกศาสนามุ่งเน้น การทำความดี ถ้าทุกคนเป็นคนดี สังคมโดยรวมก็จะสงบเรียบร้อย ประชาชนมีสันติสุข พิจารณาความสัมพันธ์ของศาสนากับสังคมได้ดังนี้
- การทำความดีของศาสนาต่าง ๆ มีผลต่อวิถีชีวิตของสมาชิกในสังคมนั้น ๆ หลักการทำความดีของศาสนาที่สำคัญในโลก มีดังนี้
ศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู ถือว่า การทำความดี คือ การทำความดีเพื่อความดี เพื่อหน้าที่
ศาสนาพุทธ ถือว่า ควรทำความดีเพื่อความดี
ศาสนาคริสต์ ถือว่า ทำความดีเพื่อพระเจ้า
ศาสนาอิสลาม ถือว่า ทำความดีเพื่อพระเจ้า
ศาสนาสิกข์ ถือว่า ทำความดีเพื่อพระเจ้า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น