หลักธรรม

          เบญจขันธ์ หรือ ขันธ์ 5


          เบญจขันธ์ หมายถึง กองแห่งรูปธรรมและนามธรรมห้าหมวดที่ประชุมกันเข้าเป็นชีวิต
ขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
1. รูปขันธ์ กองรูป ส่วนที่เป็นรูป ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่าง ๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย ส่วนประกอบฝ่ายรูปธรรมทั้งหมด
2. เวทนาขันธ์ กองเวทนา ส่วนที่เป็นการเสวยรสอารมณ์ ความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉย ๆ
เมื่อรับรู้เกิดความพอใจ มนุษย์เรียกว่า สุข เมื่อรับรู้เกิดความไม่พอใจ มนุษย์เรียกว่า ทุกข์ เมื่อรับรู้แล้วไม่ทุกข์ไม่สุข เรียกว่า อุเบกขา
3. สัญญาขันธ์ กองสัญญา ส่วนที่เป็นความกำหนดหมายให้จำอารมณ์นั้น ๆได้ ความกำหนดได้หมายรู้ในอารมณ์ 6 เช่น เสียงดัง รูปสวย กลิ่นหอม รสหวาน ร้อน และดีใจ
4. สังขารขันธ์ กองสังขาร ส่วนที่เป็นความปรุงแต่ง สภาพที่ปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลาง ๆ คุณสมบัติต่าง ๆ ของจิต มีเจตนาเป็นตัวนำ ที่ปรุงแต่งคุณภาพของจิต ให้เป็นกุศล อกุศล อัพยากฤต
5. วิญญาณขันธ์ กองวิญญาณ ส่วนที่เป็นความรู้แจ้งอารมณ์ ความรู้อารมณ์ทางอายตนะทั้ง 6
อายตนะแปลว่า บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์ บ่อเกิดหรือสื่อสัมพันธ์ ของอายตนะทั้งสองแล้วเกิดอารมณ์ขึ้น อายตนะมีตาเป็นต้น เมื่อสัมผัสกับรูปแล้ว ก็ติดต่อสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องถึงประสาทเข้ามาหาใจ แล้วใจก็รับเอามาเป็นอารมณ์ ถ้าดีก็ชอบใจ สนุก เพลิดเพลิน ถ้าไม่ดีก็ไม่ชอบใจ คับแค้นเป็นทุกข์โทมนัสต่อไป
อายตนะ ประกอบด้วย อายตนะภายใน 6 และอายตนะภายนอ 6

หู ที่เสียงดังมากระทบ เรียกว่า โสตวิญญาณ
ตา ที่เห็นวัตถุรูป เรียกว่า จักษุวิญญาณ
จมูก ที่ดมกลิ่นสารพัดทั้งปวง เรียกว่า ฆานวิญญาณ
ลิ้น ที่รับรสทุก ๆ อย่างที่มาสัมผัส เรียกว่า ชิวหาวิญญาณ
กาย ที่ถูกสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งอันจะรู้ได้ทางกาย เรียกว่า กายวิญญาณ
ใจ ความรู้สึกนึกคิดในอารมณ์นั้น ๆ เรียกว่า มโนวิญญาณ
         ขันธ์ 5 นี้ ย่อลงมาเป็น2 คือ รูป และ นาม
รูปขันธ์จัดเป็นรูป และ 4 นามขันธ์ จัดเป็นปรมัตถธรรม 4 = เวทนาขันธ์ 1 สัญญาขันธ์ 1 สังขารขันธ์1 และวิญญาณขันธ์ 1 จัดเป็นจิตหรือ เป็น เจตสิก ส่วนนิพพาน เป็นขันธ์วินิมุต คือ พ้นจากขันธ์ 5 สรรพสิ่งทั้งหลายในอนันตจักรวาลนั้น แยกประเภทได้เป็น 3 ส่วน ได้แก่
1. ส่วนที่เป็นวัตถุทั้งหลาย ( รูปขันธ์ ประกอบด้วย ธาตุ 4 = ดิน น้ำ ลม ไฟ )
สสารและพลังงานทั้งหลาย แสง สีทั้งหลาย เสียง กลิ่น รส ความเย็น ความร้อน ความอ่อน ความแข็ง ความหย่อน ความตึง อาการเคลื่อนไหวของสิ่งต่าง ๆ ช่องว่างต่าง ๆ อากาศ ดิน น้ำ ไฟ ลม สภาพแห่งความเป็นหญิง เป็นชาย เนื้อสมองและระบบของเส้นประสาททั้งหลาย อันเป็นฐาน ให้จิตเกิด รวมทั้งอาการแห่งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ เสื่อมไป ดับไปของวัตถุทั้งหลายด้วย
ซึ่งรวมเรียกว่า รูปขันธ์
2. ส่วนที่เป็นความรู้สึกและความคิดทั้งหลาย รวมเรียกว่านามขันธ์ คือ
ปรมัตถธรรม 4 ได้แก่
2.1
เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย ทุกข์ทางกาย โสมนัส(สุขทางใจ) โทมนัส(ทุกข์ทางใจ) อุเบกขาหรือ อทุกขเวทนา อสุขเวทนา เป็นกลางๆ (ไม่สุขไม่ทุกข์ )
2.2
สัญญาขันธ์ คือ ความจำได้หมายรู้ในสิ่งต่างๆ คือส่วนที่ทำหน้าที่ในการจำนั่นเอง (ไม่ใช่เนื้อสมอง แต่เป็นส่วนของความรู้สึกนึกคิด เนื้อสมองนั้นจัดเป็นรูปขันธ์ เนื้อสมองเป็นเหมือนสำนักงาน ส่วนนามขันธ์ทั้งหลายเหมือนผู้ที่ทำงานในสำนักงานนั้น)
2.3
สังขารขันธ์ คือ ส่วนที่ปรุงแต่งจิต คือสภาพที่ปรากฏของจิตนั่นเอง เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง ทาน(สภาพของจิตที่สละสิ่งต่างๆ ออกไป) ความเมตตา กรุณา มุทิตา สมาธิ ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ท้อถอย ความง่วง ความละอาย ความเกรงกลัว ความไม่ละอาย ความไม่เกรงกลัว เจตนาในการทำสิ่งต่าง ๆ ความลังเลสงสัย ความมั่นใจ ความเย่อหยิ่งถือตัว ความเพียร ความยินดี ความพอใจ ความอิจฉา ความตระหนี่ ศรัทธา สติ ปัญญา การคิด การตรึกตรอง
2.4
วิญญาณขันธ์ หรือ จิต คือผู้ที่รับรู้สิ่งทั้งปวง คือรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ตั้งแต่ เวทนาขัน สัญญาขันธ์ จนถึงสังขารขันธ์ และเป็นผู้รับรู้ถึงส่วนที่เป็นรูปขันธ์ทั้งหลายด้วย อันได้แก่เป็นผู้รับรู้สิ่งทั้งหลาย ที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง รวมถึงเป็นผู้รับรู้ในสภาวะแห่ง นิพพาน ด้วย
3. นิพพาน คือ สภาวะที่พ้นจากรูปขันธ์และนามขันธ์ทั้งปวง
หรือสภาวะจิตที่พ้นจากความยึดมั่นผูกพันในสิ่งทั้งปวง รวมถึงไม่ยึดมั่นในนิพพานด้วย
นิพพาน = นิ + วาน (ในภาษาบาลีนั้น ว. กับ พ. ใช้แทนกันได้ วาน จึงเท่ากับ พาน)
นิ = พ้น
วาน = สิ่งที่เกี่ยวโยงไว้ ได้แก่
ตัณหา คือ ความทะยานอยากและอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง
นิพพาน แปลตามตัวจึงหมายถึงความพ้นจากเครื่องเกี่ยวโยง(ตัณหาและอุปาทาน) นั่นเอง
สรุปแล้วขันธ์ 5 ประกอบด้วย รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์
โดยท ี่เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ รวมเรียกว่า
เจตสิก ซึ่งแปลว่าเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับจิตเสมอ จิตและเจตสิกจะเกิดและดับพร้อมกันเสมอ จะแยกกันเกิดไม่ได้ เพราะเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพียงแต่ว่าตอนนั้นนามขันธ์ตัวไหนจะแสดงตัวเด่นกว่าตัวอื่นเท่านั้นเอง

ทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรม คือธรรมสำหรับพระมหากษัตริย์ ใช้พระราชอำนาจในการปกครองและการบำเพ็ญประโยชน์ต่ออาณาประชาราษฎร มี 10 ประการ ดังนี้
1. ทาน
2. ศีล
3. ปริจาคะ
4. อาชชวะ
5. มัททวะ
6. ตปะ
7. อักโกธะ
8. อวิหิงสา
9. ขันติ
10. อวิโรธนะ
 

1. ทานํ (ทานัง)หรือ การให้ หมายถึง การพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การสละทรัพย์สินบำรุงเลี้ยงประชาชน หรือ การบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ การทรงเสียสละพระกำลังในการปกครองแผ่นดิน พระราชดำริอันก่อให้เกิดสติปัญญาและพัฒนาชาติ การพระราชทานเสรีภาพอันเป็นหัวใจในการอยู่ร่วมกันในสังคม การให้นอกเหนือจากการบริจาคเป็นทรัพย์สินหรือสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ตกทุกข์ได้ยากตามที่เราทำอยู่เสมอแล้ว เราก็อาจจะให้น้ำใจแก่ผู้อื่นได้ เช่น ให้กำลังใจแก่ผู้ตกอยู่ในห้วงทุกข์ ให้ข้อแนะนำที่เป็นความรู้แก่ผู้ร่วมงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ให้รอยยิ้ม และปิยวาจาแก่ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง รวมถึงบุคคลที่มารับบริการจากเรา
อาจสรุปได้ว่า ทานแบ่งออกเป็น 3 ประเภทประกอบด้วย
1.1
วัตถุทาน หรือ อามิสทาน คือการให้ปันเป็นวัตถุสิ่งของ ที่เราสามารถจับต้องได้
1.2
ธรรมทาน หรือ วิทยาทาน คือการให้ความรู้ วิชาการ
1.3
อภัยทาน หรือ การยกโทษให้
2. ศีลํ (สีลัง) คำว่า ศีล แปลว่า ปรกติ หมายถึงการักษากาย วาจา ใจ ให้เป็นปรกติ การตั้งและทรงประพฤติพระราชจรรยานุวัตร พระวรกาย พระวาจา ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา อันได้แก่ เบญจศีลมาเสมอ ศีล คือ ความประพฤติที่ดีงาม ตามหลักศาสนา อย่างน้อยก็ขอให้เราได้ปฏิบัติตามศีล ๕

3. ปริจาคํ หรือ การบริจาค คือ การที่ทรงสละความสุขที่มีอยู่เพื่อความสุขของอาณาประชาราษฎร์ เมื่อถึง คราวก็สละได้ แม้พระราชทรัพย์ ตลอดจนพระโลหิต หรือแม้แต่พระชนม์ชีพ เพื่อรักษาธรรมและพระราชอาณาจักรของ พระองค์ ปริจจาคะ หรือ ความเสียสละหมายถึง การเสียสละความสุขส่วนตนเพื่อความสุขหรือประโยชน์ของส่วนรวม ซึ่งอาจจะเป็นครอบครัว หน่วยงาน หรือเพื่อนร่วมงานของเราก็ได้ การเสียสละไม่ว่าสิ่งใดก็ตาม ถือเป็นการลดความเห็นแก่ตัว ซึ่งล้วนมีส่วนช่วยให้สังคมดีขึ้นทั้งสิ้น

4. อาชฺชวํ หรือ ความซื่อตรง หมายถึง การที่ทรงซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อมิตรประเทศและอาณาประชาราษฎร ดำเนินชีวิตและปฏิบัติภารกิจ หน้าที่การงานต่างๆ ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่คิดคดโกงหรือหลอกลวงผู้อื่น เพราะถ้าทุกคน เอาเปรียบหรือโกงกิน นอกจากจะทำให้หน่วยงานเราไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของผู้เกี่ยวข้องแล้ว ในระยะยาว อาจทำให้หน่วยงานเราไม่สามารถดำรงอยู่ได้ ผู้ที่เดือดร้อนก็คือเรา แม้เราจะได้ทรัพย์สินมามากมาย แต่เงินที่ได้มาก็จะเป็นสิ่งอัปมงคลที่ทำให้เราไม่เจริญก้าวหน้า ถึงแม้คนอื่นจะไม่รู้ แต่ตัวเราย่อมรู้อยู่แก่ใจ และไม่มีวันจะมีความสุขกาย สบายใจ เพราะกลัวคนอื่นจะมารู้ความลับตลอดเวลา ผู้ที่ประพฤติตนด้วยความซื่อตรง แม้ไม่ร่ำรวยเงินทอง แต่จะมั่งคั่งด้วยความมิตรที่จริงใจ ตายก็ตายตาหลับ ลูกหลานก็ภาคภูมิใจ เพราะไม่ต้องแบกรับความอับอายที่มีบรรพบุรุษได้สร้างไว้

5. มทฺทวํ หรือ มัททะวัง หมายถึง ความสุภาพอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่ เสมอกันและต่ำกว่า มีอัธยาศรัยไมตรี กล่าวคือ การทำตัวสุภาพ นุ่มนวล ไม่เย่อหยิ่ง ถือตัว หรือหยาบคายกับใคร ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อยหรือเพื่อนในระดับเดียวกัน การทำตัวเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน จะทำให้ไปที่ไหนคนก็ต้อนรับ เพราะอยู่ใกล้แล้วสบายใจ ไม่ร้อนรุ่ม หากเราหยาบคาย ก้าวร้าว คนก็ถอยห่างไม่อยากเข้าใกล้ ดังนั้น หลักธรรมข้อนี้ จึงเป็นการสร้างเสน่ห์อย่างหนึ่งให้แก่ตัวเราด้วย

6. ตปํ หรือตะปังหรือ ตบะหรือ ความเพียร การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราช กรณียกิจให้เป็นไปด้วยดี โดยปราศจากความเกียจคร้าน
ตปะ หรือ ความเพียร เป็นหลักธรรมที่สอนให้เราไม่ย่อท้อ แต่ให้ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความมุมานะ ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนประสบความสำเร็จ ซึ่งความพากเพียรนี้จะทำให้เราภาคภูมิใจเมื่องานสำเร็จ และจะทำให้เรามีประสบการณ์เก่งกล้าขึ้น นอกจากนี้ ยังสอนให้เราสู้ชีวิต ไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ


7. อกฺโกธํ หรือ อโกธะ การไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ไม่พยายามมุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล และสำหรับ พระมหากษัตริย์นั้นต้องทรงมีพระเมตตาไม่ทรงก่อเวรแก่ผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธโดยเหตุที่ไม่ควร และแม้จะทรงพระพิโรธ ก็ทรงข่มเสียให้สงบได้ อักโกธะ คือ ความไม่โกรธแม้ในหลาย ๆ สถานการณ์จะทำได้ยาก แต่หากเราสามารถฝึกฝน ไม่ให้เป็นคนโมโหง่าย และพยายามระงับยับยั้งความโกรธอยู่เสมอ จะเป็นประโยชน์ต่อเราหลายอย่าง เช่น ทำให้เราสุขภาพจิตดี หน้าตาผ่องใส ข้อสำคัญ ทำให้เรารักษามิตรไมตรีกับผู้อื่นไว้ได้

8. อวิหิงสา หรือ อะวีหิสัญจะ หมายถึง การไม่เบียดเบียนหรือบีบคั้นกดขี่ผู้อื่นรวมไปถึง การไม่ใช้อำนาจไปบังคับหรือหาเหตุกลั่นแกล้งคนอื่นด้วย เช่นไม่ไปข่มเหงรังแกผู้ด้อยกว่า ไม่ไปข่มขู่ให้เขากลัวเราหรือไปบีบบังคับเอาของรักของหวงมาจากเขา นอกจากไม่เบียดเบียนคนด้วยกันแล้ว เรายังไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม อีกด้วย เพราะมิฉะนั้น ผลร้ายจะย้อนกลับมาสู่เรา และสังคม อย่างที่เห็นจากภัยธรรมชาติต่าง ๆ ในปัจจุบัน

9. ขันติ คือ ความอดทน หมายถึง ให้เราอดทนต่อความยากลำบาก ไม่ท้อถอย และไม่หมดกำลังกาย กำลังใจที่จะดำเนินชีวิต และทำหน้าที่การงานต่อไปจนสำเร็จ รวมทั้งไม่ย่อท้อต่อการทำคุณงามความดี ความอดทนจะทำให้เราชนะอุปสรรคทั้งปวงไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ และจะทำให้เราแกร่งขึ้น เข้มแข็งขึ้น การที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชจริยานุวัตร อันอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาพระราชหฤทัย พระวรกาย พระวาจา และพระอาการ ให้เรียบร้อย

10. อวิโรธนํ หรือ อะวิโรธะนัง,อะวิโรธะนะ หมายถึง การไม่ทำผิดครรลองครองธรรม ระเบียบประเพณีอันดีงาม ยึดความยุติธรรม หนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใด ๆ ทั้งในทางนิติธรรม คือ ระเบียบแบบแผนหลักปกครอง หรือในเรื่องขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ก็ไม่ประพฤติ ให้ผิดทำนองคลองธรรม กล่าวคือ ให้ทำอะไรด้วยความถูกต้อง มิใช่ด้วยความถูกใจคือ การที่ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากพระราชจริยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีความชอบ 

 
                                                 มรรค 8                  
            มรรค คือ วิถีทางปฏิบัติให้พ้นทุกข์ หมายถึง ไม่กลับเวียนว่ายตายเกิดอีก คือนิพพาน ซึ่งมีอยู่ทางเดียวคือวิธีการที่จะนำไปสู่ความดับทุกข์หรือดับตัณหาในที่นี้ก็คือ มรรคแปด อันได้แก่
1. สัมมาทิฎฐิ ความเห็นชอบ การเข้าใจเรื่องราวอย่างถูกต้อง มีปัญญาเห็นชอบในสิ่งที่ถูกทั้งทางโลกและธรรมะ อาทิ
        1.1 การเข้าใจว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือสาเหตุแห่งทุกข์ อะไรคือการดับทุกข์ อะไรคือสิ่งที่จะนำไปสู่การดับทุกข์
       1.2 เห็นอริยสัจสี่ เห็นว่าอะไรคือความดี อะไรคือความชั่ว ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เห็นความไม่เที่ยงของสังขาร
       1.3 การเข้าใจกระบวนการเกิดขึ้นและการดับแห่งทุกข์โดยเป็นปัจจัยอาศัยกัน เป็นสังสารวัฏ (กิเลส กรรม วิบาก ) เป็นต้น



2. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ การคิดที่จะทำในเรื่องที่ดีงาม ไม่คิดโกรธ เบียดเบียน รักใคร่ ยึดธรรมะ คิดให้หลุดพ้นจากกามจากโลภ อาทิ
2.1 ความคิดที่ปลอดโปร่งไม่หมกมุ่นอยู่ในกามคุณ 5 (รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส )
2.2 ความคิดที่ไม่พยาบาท อาฆาต ริษยา ให้มีความเมตตา กรุณา เป็นต้น

3. สัมมาวาจา วาจาชอบ ไม่พูดปด พูดส่อเสียด พูดหยาบ พูดเพ้อเจ้อ ไร้สาระ พูดสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์

4. สัมมากัมมันตะ กระทำชอบ ปฏิบัติชอบ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม

5. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ ประกอบอาชีพสุจริต ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งผิดกฎหมาย ยาเสพติด เป็นต้น

6. สัมมาวายามะ เพียรชอบ ทำความเพียรทั้งทางโลกและทางธรรม

7. สัมมาสติ ระลึกชอบ มีความระลึกชอบ รู้ถูกรู้ผิดทางธรรมโดยมุ่งตัดกิเลสทั้งปวงให้มีสติระลึกในอนุสสติ 10 ประการ สามารถปฏิบัติได้ด้วยการเจริญสมาธิ อาทิ
7.1 พุทธานุสสติ เป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้า พิจารณาถึงพุทธคุณ 9 ประการ
7.2 ธัมมานุสสติ เป็นการระลึกถึงพระธรรม พิจารณาถึงธรรมคุณ 6 ประการ
7.3 สังฆานุสสติ เป็นการระลึกถึงพระสงฆ์ พิจารณาถึงสังฆคุณ 9 ประการ
7.4 สีลานุสสติ เป็นการระลึกถึงศีล พิจารณาถึงศีลที่เรารักษาอยู่ให้บริสุทธิ์
7.5 จาคานุสสติ เป็นการระลึกถึงทาน พิจารณาถึงคุณธรรมที่เราเสียสละ มีใจเอื้อเฟื้อ
7.6 เทวตานุสสติ เป็นการระลึกถึงเทวดา พิจารณาถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดาที่เราเคยได้ยินได้ฟังมา
7.7 มรณัสสติ เป็นการระลึกถึงความตาย พิจารณาถึงความตายอันพึงจะมาถึงตนเพื่อความไม่ประมาท ในการใช้ชีวิต
7.8 กายคตาสติ เป็นการระลึกถึงร่างกาย ตัวเรา อันเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ) อย่าลุ่มหลง มีเกิด มีดับ เป็นของธรรมดา
7.9 อานาปานสติ เป็นการระลึกถึงสติกำหนดลมหายใจเข้าออก
7.10 อุปสมานุสสติ เป็นการระลึกถึงธรรมอันสงบคือนิพพาน พิจารณาถึงคุณของนิพพาน เป็นการดับทุกข์ กิเลสทั้งปวง หยุด ตัดวงจรในวัฎสังสาร(กิเลส กรรม วิบาก )นิพพานเป็นจุดหมายสูงสุดที่ชาวพุทธทั้งหลายต้องการไปถึง คือการที่พระพุทธองค์สอนให้มนุษย์ทั้งหลายปฏิบัติจนหลุดพ้นจากวัฏสงสารโดยไม่มีการกลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก ทำให้หลุดพ้นจากกองทุกข์

8. สัมมาสมาธิ ตั้งมั่นชอบ จิตอยู่ในสมาธิที่ถูกต้องได้เสมอ การตั้งจิตใจให้แน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน สามารถฝึกปฏิบัติได้ด้วยการบริหารจิต ทำสมาธิ
มรรคมีองค์ 8 นี้ เมื่อจัดเข้าระบบการฝึกปฏิบัติหรือที่เรียกว่า ไตรสิกขา ( ปฏิบัติธรรม ) สามารถปฏิบัติ ได้ด้วยการรักษาศีล การทำสมาธิ


สัปปุริสธรรม 7
              สัปปุริสธรรม 7 ธรรมของคนดี ธรรมของสัตบุรุษ ธรรมที่ทำให้เป็นสัตบุรุษ คุณสมบัติของคนดี

1. ธัมมัญญุตา = รู้จักเหตุ
ความรู้จักธรรม หรือ รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง รู้หลักการ รู้หลักเกณฑ์ รู้กฎแห่งธรรมดา รู้กฎเกณฑ์แห่งเหตุผล รู้จักวิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์และรู้หลักการที่จะทำให้เกิดผล อาทิ นักเรียนรู้ว่าจะเรียนอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ภิกษุรู้ว่าหลักธรรมข้อนั้นๆ คืออะไร มีอะไรบ้าง พระมหากษัตริย์ทรงทราบว่าหลักการปกครองตามราชประเพณีเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง รู้ว่าจะต้องกระทำเหตุอันนี้ หรือกระทำตามหลักการข้อนี้ จึงจะให้เกิดผลที่ต้องการอันนั้น เป็นต้น


2. อัตถัญญุตา = รู้จักผล
ความรู้จักอรรถ รู้ความมุ่งหมาย หรือ รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ความมุ่งหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ รู้จักผลที่จะเกิดขึ้นสืบเนื่องจากการกระทำหรือความเป็นไปตามหลัก เช่น รู้ว่าหลักธรรมหรือภาษิตข้อนั้นๆ มีความหมายว่าอย่างไร หลักนั้นๆ มีความมุ่งหมายอย่างไร กำหนดไว้หรือพึงปฏิบัติเพื่อประสงค์ประโยชน์อะไร การที่ตนกระทำอยู่มีความมุ่งหมายอย่างไร เมื่อทำไปแล้วจะบังเกิดผลอะไรบ้างดังนี้เป็นต้น

3. อัตตัญญุตา = รู้จักตน
ความรู้จักตน คือ รู้ว่าตัว เรานั้น ว่ามีสถานภาพเป็นอะไร ฐานะ ภาวะ เพศ กำลัง ความรู้ ความสามารถ ความถนัด และคุณธรรม เป็นต้น ว่าขณะนี้ เท่าไร อย่างไร แล้วประพฤติให้เหมาะสม และรู้ที่จะแก้ไขปรับปรุงต่อไป

4. มัตตัญญุตา = รู้จักประมาณ
ความรู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่ คฤหัสถ์รู้จักประมาณในการใช้จ่ายโภคทรัพย์ นักเรียนรู้จักประมาณ กำลังของตนเองในการทำงาน รัฐบาลรู้จักประมาณการเก็บภาษีและการใช้งบประมาณในการบริหารประเทศ เป็นต้น

5. กาลัญญุตา = รู้จักกาล
ความรู้จักกาล คือ รู้กาลเวลาอันเหมาะสม และระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจ กระทำหน้าที่การงาน เช่น ให้ตรงเวลา ให้เป็นเวลา ให้ทันเวลา ให้พอเวลา ให้เหมาะเวลา เป็นต้น

6. ปริสัญญุตา = รู้จักชุมชน
ความรู้จักบริษัท คือ รู้จักกลุ่มบุคคล รู้จักหมู่คณะ รู้จักชุมชน และรู้จักที่ประชุม รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา ต้องทำกิริยาหรือปฏิบัติแบบนี้ จะต้องพูดอย่างไร ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างไร เป็นต้น

7. ปุคคลปโรปรัญญุตา = รู้จักบุคคล
ความรู้จักบุคคล คือ ความแตกต่างแห่งบุคคลว่า มีอัธยาศัย มีความสามารถ มีคุณธรรม เป็นต้น ผู้ใดหยิ่งหรือหย่อนอย่างไร และรู้ที่จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นๆ ด้วยดี ว่าควรจะคบหรือไม่ จะใช้ จะตำหนิ หรือยกย่อง และแนะนำสั่งสอนอย่างไร เป็นต้น


                                                                         อริยสัจ 4
              อริยสัจ 4 คือ ความจริงอันประเสริฐ ความจริงของพระอริยะ ความจริงที่ทำให้ผู้เข้าถึงกลายเป็นพระอริยะ เป็นผู้ประเสริฐได้ อริยสัจ 4 ประกอบด้วย
1. ทุกข์ ( ธรรมที่ควรรู้ ) หมายถึง ความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ เป็นสภาพบีบคั้นจิตใจและร่างกายให้ทนได้ยาก เมื่อทุกข์เกิดขึ้น บุคคลจะไม่สามารถละหรือคลายทุกข์ได้ ทุกข์จึงเป็นสภาวะที่จะต้องกำหนดรู้เพียงอย่างเดียวว่า นี้คือความทุกข์หรือปัญหาและต้องยอมรับความเป็นจริงว่าเป็นธรรมดาของสัตว์โลกต้องปล่อยวางจึงจะทำให้ทุกข์บางเบาลงได้

2. สมุทัย (ธรรมที่ควรละ ) หมายถึง ต้นเหตุที่ให้เกิดทุกข์หรือปัญหา ซึ่งได้แก่ ความต้องการหรือที่เรียกว่าตัณหา มี 3 ประกายคือ กามตัณหา คือความปรารถนาในกามไม่หยุดหย่อน ภวตัณหา คือความอยากมีอยากเป็นไม่เพียงพอ และวิภวตัณหา คือความไม่อยากมีไม่อยากเป็นจนทุกข์

3. นิโรธ ( ธรรมที่ควรบรรลุ ) หมายถึง สภาวะที่ทุกข์หมดสิ้นไป สภาพที่ปราศจากทุกข์ มีแต่ความสงบร่มเย็น สภาวะที่จัดเป็นนิโรธนี้ถือเป็นที่สูงสุดในการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธ เป็นยอดปรารถนาของคนทั่วไปคือความดับทุกข์

4. มรรค ( ธรรมที่ควรเจริญ ) หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นเหตุให้ถึงความดับทุกข์ ได้แก่ มรรคมีองค์ 8 ประการมีสัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ เป็นต้น โดยมรรคทั้ง 8 ประการนี้บุคคลจะต้องปฏิบัติให้เกิดมีขึ้นในตนครบทั้ง 8 ประการจึงสามารถถึงความดับทุกข์ได้
คุณค่าของอริยสัจ 4
อริยสัจ 4 ไม่เพียงแต่เป็นหลักความจริงอันประเสริฐ เป็นหลักแห่งเหตุและผล แต่ยังถือว่าเป็นหลักการสำคัญในการแก้ปัญหาชีวิตอีกด้วย


            ราชจริยาวัตร 41. สัสสเมธะ ทรงพระปรีชาในทางเกษตร
2. ปุริสเมธะ ทรงพระปรีชาในการปกครองคน
3. สัมมาปาสะ ทรงมีวิธีการที่ดีในการคล้องใจคน
4. วาจาเปยยะ ทรงมีพระวาจาอ่อนหวาน
อิทธิบาท4

       อิทธิบาท4 เป็นธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย
1. ฉันทะ หมายถึง ความพอใจ
2. วิริยะ หมายถึง ความเพียร
3. จิตตะ หมายถึง ความเอาใจใส่
4. วิมังสา หมายถึง ความไตร่ตรองตามเหตุผล

พรหมวิหาร 4
     พรหมวิหาร 4 ธรรมสำหรับผู้ปกครอง ประกอบด้วย
1. เมตตา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นได้รับสุข
2. กรุณาหมายถึง ความปราถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์
3. มุทิตา หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี
4. อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย
ความหมายของพรหมวิหาร 4พรหมวิหาร แปลว่า ธรรมของพรหมหรือของท่านผู้เป็นใหญ่ พรหมวิหารเป็นหลักธรรมสำหรับทุกคน เป็นหลักธรรมประจำใจที่จะช่วยให้เราดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างประเสริฐและบริสุทธิ์ หลักธรรมนี้ได้แก่
คำอธิบายพรหมวิหาร 4
1. เมตตา หมายถึง ความปราถนาให้ผู้อื่นได้รับความสุข ความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ความสุขเกิดขึ้นได้ทั้งกายและใจ ความสุขของคฤหัสถ์4 อันได้แก่ ความสุขเกิดการมีทรัพย์ ความสุขเกิดจากการใช้จ่ายทรัพย์ ความสุขเกิดจากการไม่เป็นหนี้
และความสุขเกิดจากการทำงานที่ปราศจากโทษ เป็นต้น

2. กรุณา หมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความทุกข์ คือ สิ่งที่เข้ามาเบียดเบียนให้เกิดความไม่สบายกาย
ไม่สบายใจ และเกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการด้วยกัน พระพุทธองค์ทรงสรุปไว้ว่าความทุกข์มี 2 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
2.1 ทุกข์ประจำหรือทุกข์โดยสภาวะ เป็นสิ่งที่มีชีวิตจะต้องประสบ อันเกิดจากเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ อันได้แก่ การเกิด ความแก่และความตาย สิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่เกิดมาในโลกจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งรวมเรียกว่า
กายิกทุกข์ 2.2 ทุกข์จรหรือทุกข์ทางใจ อันเป็นความทุกข์ที่เกิดจากสาเหตุที่อยู่นอกตัวเรา เมื่อปรารถนาแล้วไม่สมหวังก็เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักก็เป็นทุกข์การพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ก็เป็นทุกข์ รวมเรียกว่า เจตสิกทุกข์

3. มุทิตา
หมายถึง ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดี คำว่า "ดี" ในที่นี้ หมายถึง การมีความสุขหรือมีความเจริญก้าวหน้า ความยินดีเมื่อผู้อื่นได้ดีจึงหมายถึง ความปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้น ไม่มีจิตใจอิจฉาริษยา


4. อุเบกขา หมายถึง การรู้จักวางเฉย หมายถึง การวางใจเป็นกลางเพราะพิจารณาเห็นว่า ใครทำดีย่อมได้ดี ตามกฎแห่งกรรม ใครทำสิ่งใดไว้สิ่งนั้นย่อมตอบสนองคืนบุคคลผู้กระทำ เมื่อเราเห็นใครได้รับผลกรรมในทางที่เป็นโทษเราก็ไม่ควรดีใจหรือคิดซ้ำเติมเขาในเรื่องที่เกิดขึ้น เราควรมีความปรารถนาดี คือพยายามช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ในลักษณะที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

สังคหวัตถุ 4
สังคหวัตถุ 4 หลักธรรม 4 ประการที่ใช้ในการผูกมิตร ประกอบด้วย
1. ทาน หมายถึง การให้
2. ปิยะวาจะ หมายถึง การพูดจาไพเราะอ่อนหวาน
3. อัตถจริยา หมายถึง การกระทำตนให้เป็นประโยชน์
4. สมานัตตตา หมายถึง การวางตนเสมอต้นเสมอปลาย


ทิฏฐธัมมิกัตถะ4
ทิฏฐธัมมิกัตถะ4 หลักธรรม 4 ประการที่นำไปใช้แล้วได้ประโยชน์ในปัจจุบัน ประกอบด้วย
1. อุฏฐานสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยความหมั่น
2. อารักขสัมปทา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการรักษา
3. กัลยาณมิตตตา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการมีมิตรดี
4. สมชีวิตา หมายถึง ความถึงพร้อมด้วยการเลี้ยงชีวิตที่ดี


กุลจิรัฏฐิติธรรม 4
กุลจิรัฏฐิติธรรม 4 หลักธรรม 4 ประการที่ทำให้ตระกูลมั่งคั่ง ประกอบด้วย
1. ของหายของหมดต้องแสวงหา
2. ของเก่าชำรุดต้องบูรณซ่อมแซม
3. รู้จักประมาณในการใช้จ่าย
4. ต้งผู้มีศีลธรรมเป็นพ่อบ้านแม่เรือน


จักร 4

จักร 4 หลักธรรม 4 ประการที่นำบุคคลไปสู่ความเจริญ ประกอบด้วย
1. ปฏิรูปเทสวาสะ หมายถึง การอยู่ในประเทศอันเหมาะสม
2. สัปปุริสูปสังเสวะ หมายถึง การคบสัตบุรุษ การเข้าไปคบกับคนดี ผู้มีสัปปุริสธรรม7
3. อัตตสัมมาปณิธิ หมายถึง การตั้งตนไว้ชอบ ตั้งอยู่ในสุจริต 3 ได้แก่ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต
4. ปุพเพกตปุญญตา หมายถึง ความเป็นผู้มีบุญได้กระทำไว้ก่อน


อนุสสติ10
อนุสสติ10 ประกอบด้วย
1. พุทธานุสสติ หมายถึง การระลึกถึงพระพุทธเจ้า และพิจารณาถึงคุณของพระองค์ 9 ประการ
2. ธัมมานุสสติ หมายถึง การระลึกถึงพระธรรม และพิจารณาถึงคุณของพระธรรม 6 ประการ
3. สังฆานุสสติ หมายถึง การระลึกถึงพระสงฆ์ และพิจารณาถึงคุณของพระสงฆ์ 9 ประการ
4. สีลานุสสติ หมายถึง การระลึกถึงศีล พิจารณาศีลที่ตนได้ปฏิบัติ ประพฤติอย่างบริสุทธิ์
5. จาคานุสสติ หมายถึง การระลึกถึงสิ่งที่ตนได้บริจาคแล้ว พิจารณาถึงคุณธรรมที่ตนได้เสียสละแล้ว
6. เทวตานุสสติ หมายถึง การระลึกถึงเทวดาที่ตนได้ยินได้ฟังมา พิจารณาถึงคุณธรรมที่ทำให้เป็นเทวดา
7. มรณัสสติ หมายถึง การระลึกถึงความตายที่จะมีมาถึงตน พิจารณาให้เกิดความไม่ประมาท
8. กายคตาสติ หมายถึง การระลึกถึงเกี่ยวกับร่างกาย พิจารณาความเป็นอนัตตาว่าอย่าหลงใหลในความไม่แน่นอน ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน
9. อานาปานสติ หมายถึง การระลึกโดยการกำหนดลมหายใจเข้าออก
10.อุปสมานุสสติ หมายถึง การระลึกถึง นิพพาน

 
ลิจฉวีอปริหานิยธรรม7
ประกอบด้วย
1. หมั่นประชุมกันเสมอ
2. พร้อมเพรียงกันประชุม พร้อมเพรียงกันเลิกประชุม พร้อมเพรียงกันทำกิจกรรมส่วนรวม
3. ไม่บัญญัติสิ่งที่ไม่ได้บัญญัติไว้ ไม่ถอนสิ่งที่บัญญัติไว้แล้ว ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนเดิม ตามที่บัญญัติไว้
4. ให้ความเคารพนับถือแก่นักปกครองผู้ใหญ่ และฟังคำของท่าน
5. ไม่บังคับกดขี่เอากุลสตรี มาเป็นนางบำเรอ
6. สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ปูชนียสถานทั่วรัฐ
7. ให้การอารักขา คุ้มครองป้องกันอันเป็นธรรมแก่นักบวชผู้มี ศีลาจารวัตร ปรารถนาให้ท่านมาสู่รัฐของตน ที่มาแล้วขอให้อยู่อย่างเป็นสุข

ทิศ 6
          ทิศ 6 หลักธรรมที่สอนให้เราปฏิบัติต่อบุคคลรอบด้าน พระพุทธเจ้าได้แบ่งบุคคลที่อยู่รอบตัวเราออกเป็น 6 ด้าน เปรียบเสมือนทิศทั้ง 6 ประกอบด้วย
1. ทิศเบื้องหน้า หรือ ทิศตะวันออก หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง บุตร และ บิดา มารดา
2. ทิศเบื้องขวา หรือ ทิศใต้ หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง ศิษย์ และ ครูบาอาจารย์

3. ทิศเบื้องหลัง หรือ ทิศตะวันตก หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง สามี และ ภรรยา
4. ทิศเบื้องซ้าย หรือ ทิศเหนือ หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง เพื่อน และ มิตรสหาย
5. ทิศเบื้องบน หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง ฆราวาส และ สมณะ
6. ทิศเบื้องล่าง หมายถึง การปฏิบัติต่อกันระหว่าง นายจ้างและลูกจ้าง หรือผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น